หลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
 ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อ จันทร์ เพียแก่นท้าว เป็นปู่ นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒มกราคม พ.ศ.๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดี มาแต่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอม อ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดี และขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียน ชีวิตสมณะ
การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
    
เมื่อหลวงปู่มั่นอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษา หาความรู้ ทางพระศาสนามีสวดมนต์ และพระสูตรต่าง ๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปราณีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่อท่านอายุได้ ๑๗ บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วย การงานทางบ้าน ท่านได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานบิดามารดา เต็มความสามารถ ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้ว ยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่เคยลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัย ในทางบวช มาแต่ก่อนหนหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก คำสั่งของยายนี้ คอยสะกิดใจอยู่เสมอ 
ครั้นอายุหลวงปู่มั่นได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่า มีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุมัติตามประสงค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้ศึกษาในสำนัก ท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรม เป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง ฯ จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ มี พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจารย์ และ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะ ขนานนาม มคธ ให้ว่า ภูริทตโต เสร็จ อุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระ กับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ ณ วัดเลียบ ต่อไป เมื่อแรกอุปสมบท หลวงปู่มั่น พำนักอยู่วัดเลียบ เมืองอุบล เป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลบ้างเป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้น ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัยคือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรียบร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌายาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกลม นั่งสมาธิ สมาทาน ธุดงควัตร ต่าง ๆในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขาท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงบ้าง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่ วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับเจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม แล ถ้ำสิงโต ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้ง ในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัย ในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอิสาน ทำการอบรมสั่งสอน สมถวิปัสสนา แก่สหธรรมิก และอุบาสก อุบาสิกา ต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติมากขึ้น โดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลาย กระจายทั่วภาคอิสานในกาลต่อมา ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพ ฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับ เจ้าพระคุณอุบาลีฯ (สิริจันทรเถระ จันทร์) จำพรรษา วัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษาแล้วออกไปพักตามที่วิเวก ต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมา จังหวัดอุบลราชธานี พักจำพรรษาอยู่ที่ วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองขอบ อำเภอเมืองสกลนคร (ปัจจุบัน คือ อำเภอ โคกศรีสุพรรณ) ๓ พรรษาจำพรรษาที่ วัดหนองผือ ตำบลนาใจ อำเภอเมืองพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ ได้ติดตามศึกษาอบรมจิตใจมากมาย มีศิษยานิศิษย์มากหลาย ยังเกียรติคุณของท่าน ให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป
ธุดงควัตร ที่ท่านถือปฏิบัติ เป็นอาจิณ ๔ ประการ        
๑. ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสกุล จนกระทั่งวัยชรา จึงได้ใช้ คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
๒. บิณฑบาติกังคธุดงค์ คือภิกขาจารยวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั้งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต
๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ คือฉันในบาต ใช้ภาชนะใบเดียว เป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธในปัจฉิมสมัย จึงงด
๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ตลอดเวลาแม้อาพาธหนัก ในปัจฉิมสมัย ก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ คืออยู่เสนา สนะป่า ห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ตามสมณวิสัย
เมื่อถึงวัยชรา จึงอยู่ในเสนาสนะป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลัง ที่จะภิกขาจาร บิณฑบาต เป็นที่ ๆ ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรง ไม่รบกวน นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่นคราวที่ไปอยู่ภาคเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวก มูเซอร์ยังชาวมูเซอร์ที่พูดไม่รู้เรื่องกัน ให้บังเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้